วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การรักษาโรคทางไกลด้วย Google Hangout





                เมื่อนึกถึงคำว่าเทคโนโลยี หลายๆท่านก็จะนึกถึงสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวก หรือสิ่งที่ช่วยเพิ่มความบันเทิง แต่จริงๆแล้ว เทคโนโลยีที่มีอยู่รอบๆตัว ถ้านำไปประยุกต์ใช้เช่นสนับสนุนการศึกษาทางไกล การเข้าถึงข้อมูลการเกษตร รวมถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญก็จะเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ไม่น้อยเลยนะคะ

……บทความนี้ ไอที24ชั่วโมง จึงขอยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีใกล้ๆตัวที่มีอยู่แล้ว พบเห็นอยู่รอบๆตัวมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต….เช่นนำมาช่วยในการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคและบริการสาธารณสุขที่ดีแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลค่ะ
Telemedicine (การรักษาโรคทางไกล)


    
                            
                             
               Telemedicine หรือการรักษาโรคแบบทางไกล คือการนำเทคโนโลยีด้านไอที และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม (โทรศัพท์, คลื่นวิทยุ, คลื่นไมโครเวฟ , wi-fi, เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ , 3G , 4G, ดาวเทียม เป็นต้น) มาช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรค รักษาโรค และดูแลผู้ป่วย โดยมักจะมุ่งไปเพื่อการนำบริการด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกลและขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและบริการด้านสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งการทำ Telemedicine นี้ เป็นได้ตั้งแต่ง่ายๆเพียงแค่การทำตารางนัดหมายแบบออนไลน์ ไปจนถึงการผ่านตัดทางไกล ( remote surgery) เลยก็ได้

การ
                  
                   ทำ remote monitoring ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Telemedicine ช่วยให้การ monitor หรือการตรวจสังเกตุติดตามอาการคนไข้หรือคนแก่ ทำได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องนั่งเฝ้าตลอดเวลา เช่นติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถส่งภาพมายังโทรศัพท์มือถือผ่านทางอินเทอร์เน็ต ให้คอยติดตามดูอาการของคนไข้หรือคนชราที่อยู่บ้านคนเดียวได้ตลอดเวลา แม้ลูกหลานจะอยู่นอกบ้าน หรือการติด sensor ไว้ที่คนไข้เพื่อให้ส่งสัญญาณการติดตามอาการ หรือส่งสัญญาณเตือนหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นมายังคอมพิวเตอร์หรือมือถือ หรือ Tablet ของผู้ที่มีหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการของคนไข้เป็นต้น

Telemedicine นี้มิใช้เรื่องใหม่ ในหลายๆประเทศมีการริเริ่มใช้มานานแล้ว และนักวิจัยก็ได้พัฒนางานวิจัยด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับสิบปี


                  การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีแบบไร้สายและเทคโนโลยี mobile ต่างๆในปัจจุบัน ทั้ง 3G, 4G และอุปกรณ์ mobile ต่างๆ (โทรศัพท์มือถือ, Tablet, คอมพิวเตอร์แบบพกพา) ยิ่งเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา Telemedicine ให้ก้าวไกลและสะดวกยิ่งขึ้น ยังผลให้สามารถจัดหาการสาธารณสุขที่ดีให้เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ รวมไปถึงการเข้าถึงการศึกษาและความรู้ด้านการแพทย์เป็นไปได้ง่ายขึ้น ดังนั้น Telemedicine สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้ทั้งคนในเมืองและคนในชนบท
ประยุกต์ใช้ Google Hangout เพื่อการรักษาโรคทางไกล


               เมื่อเร็วๆนี้ก็มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและใช้กันในชีวิตประจำวัน อย่าง Google hangout ที่ช่วยให้สามารถสนทนาแบบเห็นหน้ากัน ได้หลายๆคนพร้อมๆกัน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต อันเป็นบริการที่มีอยู่ใน Google+ ที่หลายๆคนก็ใช้ในการคุยกับเพื่อน, โพส update status หรือ comment เพื่อนๆกันอยู่แล้ว มาช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาโรค แม้อยู่พื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

              ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ เป็นตัวอย่างที่พยาบาลที่ประจำอยู่ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บ้านหนองโสมง ตำบลอุดมทรัพย์ ซึ่งขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง จึงขอคำปรึกษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล ประจำอำเภอวังน้ำเขียว โดยการคุยกันผ่านทาง Google Hangout ที่ให้สนทนาแบบทั้งภาพและเสียง เหมือนกับการทำ video conference ผ่านทางอินเทอร์เน็ต 3G

              พยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บ้านหนองโสมง ได้เล่าถึงลักษณะอาการ และนำกล้องเวปแคมถ่ายภาพลักษณะอาการของคนไข้ เพื่อให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองช่วยวินิจฉัย ซึ่งคุณหมอก็ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการรักษา และแนะนำยาที่จะต้องใช้ ทำให้คนไข้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการรักษารวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอเป็นสัปดาห์เพื่อเดินทางไปหาหมอในเมือง หรือในจังหวัดอื่น


                    การทำ Telemedicine นี้ จะเห็นประโยชน์มากขึ้นเมื่อนำมาใช้กับกรณีที่แต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกลกันมากๆ เช่นกรุงเทพกับพื้นที่บนดอยที่เชียงราย หรือประเทศไทยกับต่างประเทศเป็นต้น ซึ่งพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลในหลายๆประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก็มักจะขาดแคลนคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา ซึ่งถ้าหากใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้เข้ามาช่วย การรักษาหรือการดูแลสุขภาพ สาธารณะสุขที่ดี ก็จะเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น

                          สำหรับประเทศไทยเอง หากพื้นที่แม้บนดอยหรือชนบทที่ห่างไกล สามารถมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเช่น 3G เข้าถึง… การจะทำ telemedicine หรือ distant learning เพื่อการศึกษา ก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น ความเจริญทางการศึกษาและการสาธารณสุข ก็จะเข้าไปสู่พื้นที่ที่ห่างไกลเหล่านั้น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนในชนบท นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลทั้งหมดจาก : http://www.it24hrs.com/2012/telemedicine-with-google-hangouts/
                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น