วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทย พ.ศ. 2550 
บทความโดย ปรเมศวร์ กุมารบุญ, ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

             บริการอินเทอร์เน็ต (Internet) ในประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างสูงและมีความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทั้งปริมาณผู้ใช้และปริมาณอัตราการรับส่งข้อมูลที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน



                      การให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ เดือน มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยให้บริการในนาม บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย (Internet Thailand) เป็นผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต เชิงพาณิชย์รายแรกของประเทศไทย


                    ต่อมาเมื่อ ตุลาคม 2540 เปลี่ยนรูปกิจการเป็น บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด และได้รับสิทธิ์การให้บริการอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์อีกเป็นครั้งที่สองและเมื่อ พฤศจิกายน 2544 แปรรูปพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจโดยกระจายหุ้นส่วนใหญ่ ให้กับประชาชนผู้สนใจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
                   จนกระทั่งได้มีองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นและบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นก็คือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช. นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจหน้าที่ของ กทช. ที่ พรบ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้บัญญัติให้ กทช. ต้องดำเนินการเปิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม จึงทำให้ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2549 ถึง 59 ราย ภายในเวลาสองปีตั้งแต่ กทช. ปฏิบัติหน้าที่มา เนื่องจาก กทช. ได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีให้ผู้ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดมากขึ้นและผู้ประกอบการเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกมาก ทำให้ผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต ทุกรายในประเทศสามารถพัฒนาคุณภาพบริการของตนให้สูงที่สุดได้และมีราคาถูกที่สุดได้ อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนเป็นหลัก

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
                    ผู้ใช้ในประเทศไทยยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายเป็นสำคัญ (Fixed Line Access) โดยเริ่มตั้งแต่ผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐานพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นใยแก้วนำแสงในปัจจุบัน
                    Business Model บริการ อินเทอร์เน็ต ในอดีตประชาชนเข้าถึงโครงข่าย อินเทอร์เน็ต โดยการใช้คอมพิวเตอร์ต่อผ่านโทรศัพท์บ้าน โดยใช้โมเด็มเป็นอุปกรณ์โทรเรียกเข้าศูนย์ผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Dial Up และคิดค่าบริการเป็นชั่วโมง
                    การใช้ โมเด็ม โทรเรียกเข้าศูนย์บริการผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐานดั้งเดิมจะมีอัตราการส่งข้อมูลที่ 28.8 kbps (28.8 กิโลบิตต่อวินาที) ซึ่งสาเหตุที่ทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้เพียง 28 kbps นั้น เนื่องจากว่าสายโทรศัพท์พื้นฐานตามบ้านเดิม เป็นโครงข่ายที่ทำจากลวดทองแดง ซึ่งจากคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical Property) ของลวดทองแดงนั้น สามารถอนุญาตให้สัญญาณทางไฟฟ้า ที่มีความถี่ไม่เกิน 28 กิโลเฮิร์ซ หรือ 28 กิโลบิตต่อวินาทีเท่านั้นผ่านไปได้ แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีโมเด็มได้ถูกพัฒนาความเร็วข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าด้วยเทคโนโลยีการบีบอัดข้อมูล (Data Compression) สามารถส่งความเร็วได้สูงถึง 56 kbps และความหวังของผู้ใช้ อินเทอร์เน็ต หลายฝ่ายดูเหมือนจะจบลงด้วยข้อจำกัดอัตราการรับส่งข้อมูลเท่านั้นอยู่หลายปี อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของโครงข่ายสายทองแดงเดิมที่มีอยู่ทั่วโลก

ยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
                       จู่ๆ ก็เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลผ่านสาย ทองแดง กันอย่างมากมายทั่วโลก โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงเทคนิคการส่งข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์เดิมเข้าสู่ยุค Digital Subscriber Line หรือ DSL เป็น เทคโนโลยี ที่พัฒนาการรับส่งข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ลวดทองแดงธรรมดา ให้สามารถเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงได้ทะลุขีดจำกัดด้านคุณสมบัติทางไฟฟ้าของสายทองแดง DSL สามารถรับส่งข้อมูล อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงได้ตั้งแต่ 5 Mbps จนกระทั่งถึง 100 Mbps อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบจากเทคโนโลยี โมเด็ม แบบเดิมตรงที่สามารถเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต ได้ตลอดเวลา (Always On) โดยไม่จำเป็นต้องโทรเรียกเข้าศูนย์ผู้ให้บริการทุกครั้งและไม่นับชั่วโมงอีกต่อไป ทั้งยังสามารถใช้โทรศัพท์บ้านไปพร้อมกับการใช้ อินเทอร์เน็ต ได้อีกด้วย Business Model เปลี่ยนเป็นการเก็บค่าบริการรายเดือน

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสื่อกลางอื่นๆ
                      นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงผ่านข่ายสายไฟฟ้า (Broadband Power Line) ล่าสุดผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้งสามแห่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทช. ให้สามารถให้บริการในลักษณะของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟฟ้าในประเทศได้ นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสอันดีของประชาชนในประเทศที่มีทางเลือกที่ดีมากขึ้นและเป็นการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมโดยรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยอีกประการ
                       เทคโนโลยีไร้สายกำลังมาแรง ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่สร้างความรุ่งเรืองในวงการโทรคมนาคมสลับกับเทคโนโลยีผ่านสายอันเป็นวฎจักรเสมอมา การเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต ไร้สายในประเทศไทยได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย โดยเริ่มเกิดความนิยมจากการใช้ WiFi ของ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไร้สายซึ่งมีความสะดวกสบายจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
                      นอกจากนั้นก็ยังมีการเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ที่รู้จักกันในนาม iPSTAR เรียกได้ว่าเป็นดาวเทียมแบบ interactive ดวงแรก
                      นอกจากนี้ในอนาคนอันใกล้เราอาจได้ยินคำว่า WISP หรือ Wireless ISP นั่นเองซึ่งเป็นผู้ให้บริการ การเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงไร้สายที่เรียกโดยรวมว่า Broadband Wireless Access (BWA) หรือเราอาจเคยได้ยินในชื่อทางการค้าอย่าง WiMax เป็นต้น WiMAX กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ การเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ตไร้สาย ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างนั่นเอง หลายท่านคงนึกภาพการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน WiFi ออก WiMAX ก็แค่เพิ่มพื้นที่การครอบคลุมให้กว้างขึ้นนั่นเอง เรียกว่าเป็น สิบๆ กิโลเมตรเลยทีเดียว

สภาพตลาดบริการอินเทอร์เน็ต (Market Structure)
                     ปัจจุบันมีคนไทยใช้ อินเทอร์เน็ต ประมาณ 10 ล้านคน สภาพตลาดบริการโดยรวมมีจำนวนผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ อินเทอร์เน็ต จาก กทช. ทั้งสิ้น 59 ราย บริการ อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ามีระดับการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีจำนวนผู้ให้บริการจำนวนมากใกล้เคียงลักษณะตลาดแบบ Perfect Competition ในอุดมคติและจำนวนผู้ใช้บริการก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน







ค่าบริการ อินเทอร์เน็ต
                       ในตลาดบริการ อินเทอร์เน็ต ทั้งสองตลาดมีอัตราค่าบริการที่ต่างกันตามคุณภาพบริการหรืออัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูล กล่าวคือ ตลาดอินเทอร์เน็ต ความเร็วต่ำ (Narrow Band) จะมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าตลาด อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง (Broad Band) โดยแนวโน้มของอัตราค่าบริการ อินเทอร์เน็ต มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด (สอดคล้องกับหลัการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม) ปัจจุบันอัตราค่าบริการ อินเทอร์เน็ต ความเร็วต่ำราคาค่าบริการต่ำสุด 4 บาทต่อชั่วโมง ในขณะที่อัตราค่าบริการ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงอัตราค่าบริการต่ำสุดที่ 290 บาทต่อเดือน



ข้อมูลทั้งหมดจาก : http://www.adslcool.com/it/viewrecord.php?id=56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น